ริวกูโจ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อเมืองทาเคะโอะ ที่นี่มีที่อาบออนเซนน้ำพุร้อนชั้นดี มีผู้คนเดินทางมาอาบน้ำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ปัจจุบันก็มีคนแวะเวียนกันมาแช่ออนเซนกันอย่างไม่ขาดสาย บริเวณออนเซนมีอาคารไม้อายุร้อยปีที่เคยเป็นที่ตั้งของออนเซน ที่ตอนนี้นำมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้ามีประตูใหญ่สีแดงที่เรียกว่า โรมอน ที่ออกแบบโดย ทัตสึโนะ คิงโก สถาปนิกชาวซากะ ที่มีชื่อเสียงในสมัยเมจิ ผู้ออกแบบอาคารของสถานีโตเกียว


ในหนังสือนำเที่ยวเล่มหนึ่งเขียนแนะนำประตูโรมอนแห่งนี้ว่า ที่นี่ให้ออกแบบให้มีบรรยากาศเหมือนกับ “ริวกูโจ” วังใต้ทะเลในนิทานเรื่องอูระชิมะทาโร่ (นิทานตำนานญี่ปุ่น ผู้ชายผู้ช่วยเต่าทะเลให้พ้นจากการแกล้งของเด็กเกเร เต่าเลยตอบแทนบุญด้วยการพาไปเที่ยววังมังกรใต้ทะเล)

ครั้งแรกที่เห็นรูปประตูโรมอนในหนังสือก็คิดว่า อยากลองมาเที่ยวดูสักครั้ง ริวกูโจในนิทานจะมีออนเซนหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้าผ่านประตูริวกูโจโรมอนที่ทาเคโอะตรงนี้มีออนเซนให้เข้าไปแช่ผ่อนคลายแน่นอน


ที่นี่ไม่ใช่เฉพาะคนท้องที่เท่านั้นที่มาใช้บริการออนเซน พวกนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศก็นิยมมาอาบออนเซนที่ทาเคโอะเช่นเดียวกัน
ทาเคโอะเป็นเมืองท่องเที่ยวออนเซนที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวสม่ำเสมอ ทำให้คนต่างชาติอย่างฉันที่อาศัยอยู่ที่นี่รู้สึกสบายๆเวลาที่เข้าไปใช้ออนเซน เพราะจะถูกมองไว้ก่อนแล้วว่าเป็นนักท่องเที่ยว ยกเว้นแต่ถ้าพวกป้าๆ ในออนเซนเริ่มบทสนทนาขึ้นมาว่า “มาจากไหน” “บ้านอยู่ไหน”
ถ้าบอกว่า มาจากวาคะคิ ถ้าคนถามรู้จักวาคะคิ ก็จะยิ่งถูกถามเข้าไปใหญ่ว่า วาคะคิตรงไหน ต้องอธิบายกันยาว
และยิ่งถ้าบอกว่ามาจากเมืองไทยก็จะถูกชวนคุยเรื่องเมืองไทยด้วย ดูคนที่นี่รู้จักเมืองไทยค่อนข้างเยอะ
การเข้าไปในเมืองใต้บาดาลของอุระชิมะทาโร่นี่ก็คงถูกถามเหมือนกันว่า มาจากตรงไหน โลกบนชายหาดที่อยู่เป็นอย่างไรบ้าง…

ทาเคโอะออนเซนริวกูโจแห่งนี้ เดินผ่านประตูโรมอนแล้วจะได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจด้วยออนเซน กล่องสมบัติของอูระชิมะทาโร่เปิดมาแล้วทำให้กลายเป็นคุณลุงไป แต่ที่นี่ตรงกันข้ามเข้าไปแล้วกลับอ่อนเยาว์ลง ทำให้หรือเปล่า อันนี้ต้องลองมาแช่ดูเอง แต่เห็นพวกลุงๆ ป้าๆ ที่มาแช่ออนเซนที่นี่บ่อยๆ ก็ดูแข็งแรงดี



หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู