หมูป่า

ปี 2019 ที่ญี่ปุ่นเป็น ปีหมูป่า การเรียกปีแทนด้วยสัตว์ต่างๆ จำนวน 12 ชนิด เป็นความเชื่อเกี่ยวกับ ปีนักษัตรในประเทศต่างๆ แถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงที่เมืองไทยด้วย

ที่เมืองไทยเรียกชื่อนักษัตรดังนี้
“ชวด (หนู) ฉลู (วัว) ขาล (เสือ) เถาะ (กระต่าย) มะโรง (มังกร/พญานาค) มะเส็ง (งูเล็ก) มะเมีย (ม้า) มะแม (แพะ) วอก (ลิง) ระกา (ไก่) จอ (หมา) กุน (หมู)”

ส่วนที่ญี่ปุ่นเรียกชื่อนักษัตรดังนี้
” เนะ (หนู) อูชิ (วัว) โทะระ (เสือ) อุ (กระต่าย) ทะทสึ (มังกร) มิ (งูเล็ก) อูมะ (ม้า) ฮิทสึจิ (แกะ) ซารุ (ลิง) โทริ (ไก่) อินุ (หมา) อิ (หมูป่า)”

เมื่อดูกันในรายละเอียดจะเห็นว่า เมืองไทยจะมีชนิดของสัตว์สองชนิดที่แตกต่างกันกับของญี่ปุ่น นั่นคือปีแพะ ที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า แกะและ ปีหมู ที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า ปีหมูป่า

ดูเหมือนว่า หมูป่า นั้นจะเป็นสัตว์ป่าที่คุ้นเคยของคนญี่ปุ่น และยิ่งกว่าคุ้นเคยของคนซากะ ที่จังหวัดซากะ มีป้ายตามถนนติดให้ระวังหมูป่าวิ่งออกมาด้วย แปลว่าอาจพบเจอหมูป่าได้ตามถนนหนทาง แต่ไม่ต้องหวั่นไป เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่ออกมาหากินในช่วงเวลาฟ้ามืด ถ้าใครไม่ออกเที่ยวไปในเขตป่าเขาช่วงเช้ามืดหรือดึกดื่นก็จะไม่ได้เจอหมูป่ากันง่ายๆ

แต่ต่อจากนี้ ปี 2019 เป็นปีหมูป่า ถ้าใครได้มาเที่ยวญี่ปุ่นก็จะพบเจอหมูป่าญี่ปุ่นได้ง่ายๆ แต่จะเป็นเหล่าขบวนตุ๊กตาหมูป่ากุ๊กกิ๊กน่ารักในรูปแบบต่างๆ ออกมาให้เห็นมากมาย

ถ้าใครมาที่ซากะ ก็จะเจอกับ ตุ๊กตาหมูป่าดินเผาน่าตาน่าเอ็นดู ของโนโกะมินิงเกียว ตุ๊กตาพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง ของเมืองคะชิมะ จังหวัดซากะ ที่สืบทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกมาตั้งแต่ปีโชวะ 20 ปี ปีที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่ผลิตตุ๊กตาในแนวความคิดที่อยากจะมอบรอยยิ้มที่สดใสให้กับเด็กๆ มีการผลิตตุ๊กตาในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 50 แบบ

และทุกปี จะมีการทำตุ๊กตาดินเผาระบายสีเป็นรูป 12 นักษัตรออกมา ทำหน้าตาน่ารักจนได้รับเลือกเป็นเน็งกะแสตมป์ ถึง 3 ครั้ง ในปีกระต่าย ปีแกะ และปีม้า

ถ้าใครสนใจ “คะชิมะ โนโกะมินิงเกียว” ลองไปแถวถนนที่มีร้านขายของที่ระลึกที่อยู่ตรงศาลเจ้ายูโตคุ อินาริ เมืองคะชิมะ ซื้อตุ๊กตา หมูป่า หรือตุ๊กตา 12 นักษัตรกลับไปประดับประดาเพิ่มฮวงจุ้ยที่บ้านกันได้ ปีนักษัตร หมูป่า ของญี่ปุ่นไม่เหมือนของประเทศไหน ก็ดูแปลกแตกต่างดี



หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู