การตอบแทนบุญคุณของคนไทย

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อวาคะคิ
ภูเขาฮะจิมันดาเกะ ภูเขามะยุยะมะ เรียงราย แม่น้ำคะวะโกะทอดสายไหลริน
มีต้นการบูรใหญ่แห่งคะวะโกะอายุ 3000 ปี เป็นที่ที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

ฉันและสามีย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ที่นี่และสนุกดีกับการใช้ชีวิตที่บ้านนอก

ตอนที่เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากคนมากมาย
ได้รับตั้งแต่คำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ของใช้ต่างๆ ไปจนถึงผักชนิดต่างๆ

คิดว่าอย่างไรก็ต้องตอบแทนบุญคุณแต่ว่าจะทำยังไงดี ระหว่างลองนึกดูก็เกิดปิ๊งขึ้นมาว่าคนที่ให้ผักนั้นมีจำนวนมากอยู่

“งั้นเราก็ปลูกผักบ้างแล้วก็ใช้ผักคืนตอบแทนกลับไป”

เจ้าของบ้านเช่าช่วยยืมพื้นที่ดินเพาะปลูกให้ และแล้วตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ สวนผักสวนครัวเล็กๆ ก็เริ่มขึ้น

พริก ถั่วพู โมโรเฮยะ ตะไคร้ มะเขือยาว มะเขือเทศ ผักชี โหระพา สะระแหน่
จะเห็นว่ามีผักเมืองไทยด้วย แต่ต้นกล้าและเมล็ดทั้งหมดซื้อในจังหวัดซากะ

ดูแล้วมีแต่ของที่ตัวเองอยากกินทั้งนั้น
ถ้าผักออกมาแล้ว เดี๋ยวจะทำอาหารไทยละเหวย แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว

ส่วนสวนผักข้างๆ เขาก็ปลูกบล็อกโคลี่ กะหล่ำปลี มะระขี้นก กันไป

เมื่อถึงฤดูร้อน ผักของเราที่แสนจะภูมิใจก็เริ่มผลิดอกออกผล!
เอ้า ได้เวลาตอบแทนบุญคุณแล้ว!

แต่ทว่า คนที่ได้รับผักแทนคุณของฉันแต่ละคน หน้าตาตอนรับดูแบ่งรับแบ่งสู้อยู่เล็กน้อย

ผักเมืองไทยนี่…ต้องการคำอธิบายถึงวิธีทำให้กินได้ด้วยสินะ

คิดอยากจะตอบแทนบุญคุณแต่คนที่ได้รับผักดูเหมือนจะลำบากแทน จะกินแบบไหนยังไงดี

ถั่วพูนี่ลวกแล้วก็กินเป็นผักสลัดได้อร่อย
ตะไคร้นี่หั่นบางๆ ก็กินแบบสดๆได้เลย
ผักชีนี่ก็เขากินรากผักชีกันด้วยนะ
ก็มีแจกแจงเรื่องผักให้ฟังไปหลายเรื่อง

ตอนแรกเลยฉันก็งง ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่รู้วิธีกินผักกัน มันก็ง่ายๆ แต่ทำไมต้องอธิบายยาว

เวลาผ่านไป พอมานั่งคิดทบทวนแล้วก็เกิดเข้าใจขึ้นมา ฉันซึ่งเป็นคนไทย
เห็นผักพวกนี้เป็นผักธรรมดาๆ แต่ที่นี่ วาคะคิ ผักเหล่านี้มันกลับไม่ธรรมดาเลย

แต่ทุกๆ ท่านคะ จากนี้ขอฝากเนื้อฝากตัว ผักไทยๆ ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ
สักวันหนึ่งอยากให้ผักไทยขึ้นโต๊ะอาหารที่ญี่ปุ่นกินกันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปเลย



หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู