ยะกิโมโน

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว ในสมัยเอโดะ ประเทศยุโรป รู้จัก อาริตะยะกิ ในชื่อ อิมาริยะกิ เพราะส่งออกจากเมืองท่าอิมาริ โดยบริษัท VOC ของชาวฮอลันดา นำเข้ามายังยุโรป

ปัจจุบัน มีการเรียกแยกให้ชัดเจนว่าถ้าเรียกว่า โคะอิมาริ จะเป็นเครื่องถ้วยชามของอาริตะที่ผลิตในสมัยเอโดะ ส่วนงานสมัยนี้ที่ผลิตที่เมืองอาริตะ จะเรียกว่า อาริตะยะกิ ส่วนงานที่ผลิตที่เมือง อิมาริ จะเรียกว่า อิมาริยะกิ

ส่วนฉันตอนแรกยังสับสนกับคำว่า อาริตะยะกิ และ อิมาริยะกิ เพราะในหนังสือหรือข้อมูลที่เคยอ่านบางทีก็เรียก อาริตะยะกิ บางทีก็เรียกว่า อิมาริยะกิ ตอนหลังถึงเพิ่งมาเข้าใจเรื่องนี้ เมื่อย้ายมาอยู่ที่ซากะ ก่อนจะมาที่ซากะ ไม่เคยเข้าใจเรื่องของ ยะกิโมโน โนะ เซไก หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า โลกของเครื่องปั้นดินเผา (ญี่ปุ่น) ดูช่างลึกลับ ซับซ้อน ละเอียดอ่อน สูงค่ายิ่งนัก

แต่เมื่อมาเที่ยวซากะครั้งแรก ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ คิวชู เซรามิก มิวเซียม ก็ได้พบกับ คิวชู ยะกิโมโน โนะ เซไก รวมไปถึงได้พบกับเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่มาจากเมืองไทย
ของโบราณบางอย่างของไทยที่ไม่เคยเห็นที่เมืองไทยแต่ได้มีโอกาสมาเห็นที่ญี่ปุ่นได้มาเห็นแบบนี้ก็รู้สึกดีใจเหมือนได้เจอบรรพบุรุษที่ออกมาผจญภัยต่างบ้านต่างเมือง


และเมื่อได้รู้จักกับโลกของเครื่องปั้นดินเผาของซากะก็อยากจะใกล้ชิดให้มากขึ้น แต่งบเรายังน้อยนัก
การซื้อ อาริตะยะกิ ครั้งแรกของบ้านเรา จึงเริ่มจาก อาริตะยะกิคาเระเบนโตะ ในราคาประมาณ 1500 เยน สำหรับการเล่นคำที่น่าประทับใจและน่าอร่อย ของ

1 อาริตะยะกิ เครื่องปั้นดินเผาของอาริตะ
2 ยะกิคาเร ข้าวแกงกะหรี่ทอปปิ้งชีสและเอาไปอบให้ชีสละลายโปะหน้า
3 เอกิเบนโตะ ข้าวกล่องที่ขายที่สถานีรถไฟอาริตะ

ก็เลยเรียกว่า อาริตะยะกิคาเระเบนโตะ คนที่คิดชื่อนี้ขึ้นมานั้นช่างคิดจริงๆ กินเสร็จเก็บล้างใส่กล่องใส่กระเป๋าอย่างดีเอากลับมาใช้ใส่ข้าวราดแกงกินที่เมืองไทย

ส่วนการซื้อ อิมาริยะกิ ครั้งแรก เริ่มต้นเมื่อย้ายมาอยู่ที่ซากะแล้ว กุ๋งกิ้ง กุ๋งกิ๋ง มาก เพราะซื้อ กระดิ่งลม…ของงานเทศกาลฤดูร้อนกระดิ่งลมของอิมาริ

เมื่อได้สัมผัส ได้ใช้ ซากะ โนะ ยากิโมโนะ โนะเซไกโลกของเครื่องปั้นดินเผาของซากะ ก็เริ่มสะสมเงินเพื่องานโทกิอิจิสำหรับทำความเข้าใจเพิ่มเติมปีละครั้งช่วงโกลเด้นวีค

แต่พออยู่ๆ ไปเรื่อยๆ ก็เจอกับชนิดของ ยะกิโมโนะที่เพิ่มมาเรื่อยๆ นาเบะชิมะยะกิ คะระทสึยะกิ ทาเคโอะยากิ ชิโรอิชิยะกิ ชิโอตะยะกิ เรื่อยไปจน ฮิเซ็นโยซิดะยะกิ
เริ่มเยอะ งบประมาณยังคงที่ จึงตัดสินใจเริ่มต้นจากใกล้ๆ ตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาของเตา คุโระมูตะ หรือ เตาวะตะชิมะ ที่วาคะคิ
ซากะ เครื่องปั้นดินเผาเยอะมาก ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สนับสนุนให้คิดว่า ซากะน่าอยู่

Photos by Saga Prefectural Tourist Federation.



หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู