เมื่อพูดถึง การบูร ในความคิดของคนไทยทั่วไป ก็จะน่าจะนึกถึงผงสีขาวๆ กลิ่นหอมเย็นๆ ที่นำมาใช้ดมแก้วิงเวียนศีรษะ หรือ การบูรห่อเล็กๆ ที่ใช้ใส่กันแมลงในตู้เสื้อผ้า (ภาษาญี่ปุ่นเรียกผงการบูรว่า โชโน)
ต้นการบูรของจริงนั้น เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกก็เมื่อมาที่จังหวัดซากะนี่เอง
ที่อำเภอทาเคโอะมีต้นการบูรต้นใหญ่อายุ 3000 ปีขึ้นไปอยู่ 3 ต้น
1.Takeo no Ookusu
ต้นการบูรใหญ่ที่ทาเคโอ
ตั้งอยู่ทึ่ด้านหลังของศาลเจ้าทาเคโอะ
2.Tsukazaki no Ookusu
ต้นการบูรใหญ่ที่เคยถูกฟ้าผ่าลงกลางต้นหักไปเมื่อปี 1963 แต่ยังยืนต้นแตกกิ่งก้านอยู่ได้
3.Kawago no Ookusu
ต้นการบูรใหญ่ที่คาวะโกะ
ใหญ่ติดอันดับ 5 ในประเทศ และใหญ่เป็นอันดับ 1 ในจังหวัดซากะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
https://slowtrip-saga.com/2017/08/1107/
จะเห็นได้ว่าจังหวัดซากะให้ความสำคัญกับต้นการบูร หนึ่งในเหตุผลนั้นคือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดซากะ
ธงประจำจังหวัดซากะก็ใช้ดอกการบูรเป็นสัญลักษณ์บนธง ธงพื้นสีเขียวเข้มมีดอกการบูรสีขาว เกสรสีส้ม วางอยู่ตรงกลาง
ต้นการบูรมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Camphor
กลิ่นของการบูรอยู่ในเนื้อไม้ มีคุณสมบัติกันแมลง ส่วนผงการบูรสีขาวที่เห็น คือผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้และนำมากลั่นเป็นผงจากเนื้อไม้ที่ผ่านการกลั่นมาแล้ว
แต่น่าแปลกใจตรงที่ว่า ตั้งแต่อยู่ที่ซากะมา ยังไม่เคยเจอการบูรเป็นผงสีขาวๆ วางขายทั่วๆไป แบบที่ขายอยู่ที่เมืองไทยเลย ที่นี่ถ้าอยากใช้ กลิ่นการบูรกันแมลงสำหรับใช้ในบ้าน เขามีขายเป็น ชิ้นไม้การบูรหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า คุสึชิปสึ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของการบูรกรุ่นกลิ่นเบาๆ แต่ถ้าใช้สำหรับดมแก้วิงเวียนนี่ต้องสูดกลิ่นกันนานจนอาจจะไม่หายวิงเวียน
ตอนนี้เมื่อมาอยู่ที่จังหวัดซากะแล้ว ภาพในหัวของ คำว่า การบูร ก็เปลี่ยนไป จากผงสีขาวๆ กลิ่นหอมเย็น กลายเป็น ต้นไม้ยืนต้นใหญ่ๆ ใบสีเขียวสวย ดอกเล็กๆ สีขาว อายุยืนยาวได้เป็นพันๆ ปี เวลาเดินไปใกล้ๆ ก็จะหอมกลิ่นการบูรกรุ่นๆ ชื่นใจ
หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู