หมู่บ้านต้นไม้ยังเยาว์

“ที่หมู่บ้านวาคะคินี่ แต่ละเขตแต่ละพื้นที่ก็มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองนะ” ฉันเปรยขึ้นมา
“นั่นสินะ มี 15 เขต แต่เห็นว่า ตอนสมัยเอโดะแบ่งเป็น 4 เขตนะ” สามีตอบ

บทสนทนาระหว่างสามีผู้ตัดสินใจมาอาศัยอยู่ที่วาคะคิ และฉันผู้เริ่มสนุกดีกับการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ญี่ปุ่น

ในสมัยเอโดะที่นี่แบ่งเขตได้ 4 หมู่บ้าน
โอกะเบะเรียวฮิกาชิคะวะโกะมูระ
โอกะเบะเรียวนิชิคะวะโกะมูระ
ฮะทสึอิเกะเรียว และ ทาเคโอะเรียว
ในปัจจุบันวาคะคิแบ่งออกเป็น 15 เขตที่เรียกภาษาญี่ปุ่นว่า คุ
นะกะยะมะ โกะโช นะกะโนะ ทสึเคะโบะ คะวะจิ ทสึกะมูตะ
คะวะโกะยะมะนะกะ คะมิชิคคุ ซะระชิคคุ ชิโมะมูระ ฮิยะคุโดบะรุ
คุโระอิวะ ฮะรุ ชิคคุ โมะโตะเบะยะมะนะกะ


ตอนที่ย้ายเข้ามาใหม่ ได้มีโอกาสไปร่วมงานเลี้ยงที่จัดขึ้นที่ศาลาประชาคมในเดือนเมษายน ถึงได้เริ่มเข้าใจว่า เราจะจำแค่คำว่า วาคะคิ มันไม่พอ ต้องเพิ่มชื่อเขต (คุ) สถานที่เพิ่มเติมในหน่วยความจำเข้าไปอีกอย่างน้อย 15 ชื่อ เพื่อที่จะได้พูดกับคนที่ วาคะคิได้เข้าใจ

การย้ายไปอยู่สถานที่ใหม่ๆ มีสิ่งที่ต้องจำมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่างแรกๆ ที่ต้องจำคือ “ชื่อ” ต่างๆ ชื่อคน ชื่อสถานที่ ปรกติการจำชื่อเฉพาะก็ยากอยู่แล้ว และยิ่งเป็นภาษาที่ไม่ใช่ภาษาตัวเอง ยิ่งเพิ่มความยากเข้าไปอีก อย่าง ชื่อที่อยู่ ตอนแรกๆ ก็จำผิดจำถูก

พอลองจำเป็นชุดๆ อย่าง
ขิคคุ คะมิชิคคุ ซะระชิคคุ ชุดนี้ยังพอได้เพราะมีคำว่า ชิคคุ ให้จำเหมือนกัน
แต่พอเป็น นะกะยะมะ คะวะโกะยะมะนะกะ โมะโตะเบะยะมะนะกะ อ่ะ หรือ ยามะนะกะ? จำไปจำมา ชุดนี้กลายเป็น จำสลับหน้าหลัง นะกะยะมะ หรือ ยะมะนะกะ นะ?

เพราะจำแค่เสียงอ่านก็เลยงง จึงลองแปลคันจิเป็นหน่วยความจำภาษาไทยก่อน และลองจำเสียงและความหมายไปด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น วาคะคิ แปลว่า ต้นไม้อ่อนๆ ต้นไม้ที่ยังเยาว์อยู่ คะวะโกะ แปลว่า แม่น้ำสายเก่า ดังนั้น บ้านเราอยู่ที่ เขตต้นไม้ยังเยาว์ แถวแม่น้ำสายเก่า ก็ฟังดูเห็นภาพ จำง่ายดี
แต่ว่าคำว่า นะกะยะมะ กับ ยะมะนะกะ แปลว่า ในภูเขาเหมือนกันนี่สิ…ก็ยังจำลำบากสลับไปสลับมาอยู่ดี…



หน่อย
เกิดที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่นและลูกน้อยที่วาคะคิ อำเภอทาเคโอะ จังหวัดซากะ
ตอนอยู่ที่เมืองไทย เคยทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะและสื่อสิ่งพิมพ์
ตอนนี้มาอยู่คิวชูมี ใบอนุญาติสำหรับทำงานมัคคุเทศก์ภาษาไทยสำหรับนำเที่ยวในเกาะคิวชู